April 29, 2024
คลังความรู้

เล่าเรื่อง พระเพทราชา ได้ราชสมบัติแบบตกกระไดพลอยโจน?

เล่าเรื่อง พระเพทราชา ได้ราชสมบัติต่อจาก สมเด็จพระนารายณ์ แบบตกกระไดพลอยโจน?

ชื่อ “พระเพทราชา” เป็นชื่อที่ผู้เขียนคุ้นเคยอย่างมากมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น ด้วยเป็นชื่อถนนที่อยู่หน้าโรงเรียน และพวกเราก็เดินบนถนนนี้แทบทุกวัน คือ ถนนเพทราชา เป็นถนนเล็กๆ แคบและสั้น ทอดยาวตลอดกำแพงวังด้านใต้ของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ทางตะวันออกจรดถนนสรศักดิ์และทางตะวันตกจรดถนนพระราม ความยาวของถนนเท่ากับความยาวของกำแพงวัง ประมาณ 180 เมตรเท่านั้น พื้นถนนลาดยางดูไม่สู้เรียบร้อย ข้างถนนด้านกำแพงวังมีเพิงพิงกำแพงมีหลังคาคลุม เป็นคอกม้ายาวไปตามกำแพง สลับกับเป็นโกดังรกรุงรัง เก็บฟืนและกระสอบถ่าน ส่วนของถนนอีกด้านเป็นบ้านเรือนเลียบมาจนจรดปากประตูโรงเรียน

ผู้เขียนในขณะนั้น ไม่ทราบที่มาที่ไปของชื่อนี้มากนัก รู้แต่เพียงว่าเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ผู้เป็นต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง คือ พระเพทราชา หรือพระมหาบุรุษ และรู้สึกต่อมาว่า ถนนเล็กๆ หลังวังสายนี้ ไม่สมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ระดับต้นราชวงศ์ ผู้ทรงเคยกระทำการรัฐประหาร ในช่วงปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2231) ไม่เช่นนั้นสยาม (อยุธยา) อาจถูกยึดครองโดยฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปีนั้นเลยก็เป็นได้

บางทีจะมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะถนนในเมืองอีกสายหนึ่ง จากประตูวังด้านตะวันออก (ประตูพยัคฆา) ทอดผ่านวัดราชา (สวนราชานุสรณ์) ไปจรดถนนหน้าพระธาตุ ยังใช้ชื่อเจ้าเมือง คือ ถนนพระยากำจัดฯ (พ.ต.อ. พระยากำจัดโสณฑ์ทุจริต พ.ศ. 2466-2469) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นชื่อถนนสายสำคัญสายนั้นได้ ให้ความรู้สึกลึกๆ ถึงความแตกต่างบางประการ ชวนให้ค้นหา

ถนนเพทราชา พระเพทราชา

๒ ถนนเพทราชาในปัจจุบัน (ถ่ายเมื่อวันงานลพบุรี กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖)

 

สมเด็จพระเพทราชา ได้ราชสมบัติต่อจาก สมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงและอยู่ในราชสมบัตินาน 15 ปี เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นพระชนมายุได้ 51 พรรษา

เมื่อได้ราชสมบัติใหม่ๆ ทรงเจริญพระราชกรณียกิจตามประเพณี คือทำนุบำรุงพระศาสนา และสร้างวัดเป็นอันมาก เช่น วัดพญาแมน วัดบ้านป่าตอง วัดบรมพุทธาราม เป็นต้น

ส่วนพระราชกรณียกิจทางการเมืองที่สำคัญมากน่าจะมี 3 กรณี อย่างแรกเป็นกรณีสำคัญก่อนได้ราชสมบัติ ครั้งยังเป็นพระเพทราชา จางวางกรมช้าง หรือเจ้ากรมช้างในฐานะรักษาการสมุหกลาโหม กับอีก 2 กรณีหลัง คือ การปราบกบฏธรรมเถียรและยุติการต่อต้านของสองเมืองใหญ่ คือ นครราชสีมากับนครศรีธรรมราช ส่วนกรณีสุดท้ายคือกรณีขับไล่กองทหารฝรั่งเศสจากป้อมบางกอกให้พ้นจากสยาม

๓ สวนราชานุสรณ์ เมืองลพบุรี

กรณีการเมือง (ก่อนได้ราชสมบัติ) ก็คือการจับ พระยาวิไชเยนทร์ เมื่อเขานำทหารฝรั่งเศสพร้อมอาวุธทันสมัยเข้ามาประจำการที่ป้อมบางกอก ซึ่งถือว่าเป็นอันตราย เพราะอาวุธเหล่านั้นมีอานุภาพเหนือกว่าทางอยุธยามาก แม้มีทหารเพียงกองร้อย ก็สามารถเอาชนะทหารไทยในระดับกองทัพได้ พระเพทราชาเคยติงเรื่องนี้ในที่ประชุมขุนนางต่อหน้าพระพักตร์เรื่องการคบหากับต่างชาติที่ต้องระมัดระวัง

สมเด็จพระนารายณ์ ในเวลานั้นทรงชื่นชอบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และโปรด พระยาวิไชเยนทร์ เป็นพิเศษ และทรงโกรธการติงของพระเพทราชา แต่ก็ระงับไว้ได้ ถ้าเป็นขุนนางผู้อื่นอาจถูกโบยได้ แต่นี่เป็นพระเพทราชาที่มีฐานะเป็นทั้งพระญาติสนิท เพราะแม่จริงของพระเพทราชา คือแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์ นั่นคือเจ้าแม่วัดดุสิต นอกจากนั้นยังเป็นศิษย์พระอาจารย์องค์เดียวกัน (พระอาจารย์พรหม) ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พระเพทราชาเป็นคนลุ่มลึก เยือกเย็น องอาจ กล้าหาญ และเฉลียวฉลาด ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงรู้จักดีมานานแล้ว

 

๔ วัดบรมพุทธาราม อยุธยา (ก่อนบูรณะ)

พระเพทราชาเวลานั้น ดำรงตำแหน่งรักษาการสมุหกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง[1] มาตั้งแต่ปี 2219 เป็นตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบดูแลความมั่นคงของบ้านเมือง จึงจำเป็นต้องจับตาดูการเคลื่อนไหวของวิไชเยนทร์อย่างเป็นพิเศษ ความจริงก็คือ วิไชเยนทร์จะใช้กองกำลังทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอกทำการรัฐประหารยึดอำนาจ กองทหารนั้นควบคุมโดยนายพลเดส์ฟาร์จ ทั้งนี้จะใช้กองกำลังเพียง 60-80 คน ก็สามารถดำเนินการได้เพราะมีอาวุธที่ดีกว่ามาก

พระเพทราชามีทหารน้อยกว่า และรู้ดีถึงสมรรถภาพของทหารฝ่ายตนดี

๕ วัดบรมพุทธาราม อยุธยา ในปัจจุบัน

นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งชี้ว่า พระเพทราชาฉลาดพอที่จะอาศัยพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในเขตเมืองลพบุรีและปริมณฑล ทั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพระสังฆราชเมืองลพบุรี ณ วัดราชา ทั้งในเรื่องการสอดแนมการเคลื่อนไหวต่างๆ การก่อม็อบและอาจใช้เป็นกำลังรบถ้าจำเป็น การอาศัยกำลังจากพระสงฆ์ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น เป็นวิธีที่แนบเนียน ซึ่งวิไชยเยนทร์ไม่เข้าใจ เขารู้แต่เพียงว่า พระเพทราชาไม่มีกำลังรบที่ดีๆ อยู่ในมือเลย กว่าจะระดมคนได้ต้องใช้เวลาเป็นเดือน กระนั้นก็ตามวิไชยเยนทร์ก็มิได้ตายใจ เร่งกระชับสัญญาและเอาอกเอาใจนายพลเดส์ฟาร์จมากขึ้น มีการพบปะ เลี้ยงดูกันบ่อยครั้งขึ้น

เมื่อถึงเดือนเมษายน ปี 2231 จึงเป็นเดือนของการชิงไหวชิงพริบกันอย่างมากระหว่างพระเพทราชากับ
วิไชเยนทร์ บรรยากาศการเมืองในเวลานั้นจึงสับสนอึมครึมอย่างมาก ดังบรรยายไว้ในจดหมายของบาทหลวงผู้หนึ่ง ชื่อ บาทหลวงมาติโน ที่ฉายให้เห็นภาพความวุ่นวาย ปั่นป่วนของข่าวลือต่างๆ ที่ล้วนเขย่าขวัญคณะบาทหลวงให้หวาดหวั่นอย่างที่สุด

ย้อนกลับไปเดือนมีนาคม ก่อนหน้านั้นพระเพทราชาได้ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าในการสั่งการต่างๆ โดยอ้างพระราชโองการ แต่ก็เต็มไปด้วยความระมัดระวังในการใช้อำนาจสั่งการนั้นอย่างยิ่ง วิไชเยนทร์เองก็เชื่อมั่นในกองทหารฝรั่งเศสของนายพลเดส์ฟาร์จ อย่างเต็มที่

ราวๆ ต้นเดือนพฤษภาคม พระอาการประชวรก็ทรุดลงอย่างหนักด้วยโรคไอหืด (asthmatic cough) นั่นย่อมเป็นโอกาสส่งให้พระเพทราชาชิงกระทำการรัฐประหารโดยทันที ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2231 โดยมีหลวงสรศักดิ์หรือพระยาศรีสรศักดิ์[2] เป็นกำลังสำคัญ เสริมด้วยม็อบชาวบ้านและชาววัดในเขตเมืองและปริมณฑลเป็นตัวช่วย

๖ พิธีพระราชทานเพลิงศพเจ้าแม่วัดดุสิต
๗ วิไชเยนทร์
๘ ซากตำหนักสมเด็จพระสังฆราชเมืองลพบุรี วัดราชา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถนนพระยากำจัดฯ กำลังรอการบูรณะเร่งด่วน (ถ่ายโดย สมพงษ์ นิติกุล)

วิไชเยนทร์เอง ก็อยู่ในวิสัยและเวลาเดียวกันที่จะกระทำการรัฐประหาร แต่ก็เกิดการขัดข้องขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะนายพลเดส์ฟาร์จเกิดลังเลใจ ไม่ยอมยกกองทหารฝรั่งเศสขึ้นมาลพบุรีตามสัญญานัดหมาย และนี่ก็คือจุดจบของวิไชเยนทร์อย่างไม่มีข้อสงสัย เขาถูกจับและถูกขังอยู่ระยะหนึ่งเพื่อสอบสวนที่ซ่อนทรัพย์ และเพื่อการถูกทรมานก่อนจะนำไปประหารที่วัดซาก ทางเหนือนอกกำแพงเมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2231 เวลาบ่ายสี่โมงเย็น

สำหรับ พระปีย์[3] ราชบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ ผู้ซึ่งเคยถูกคาดหมายว่าจะได้รับราชสมบัติโดยการสนับสนุนของวิไชเยนทร์ก็ถูกลอบสังหารก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ณ ริมกำแพงแก้ว พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เมืองลพบุรี โดยศพถูกนำไปฝังที่วัดซากเช่นเดียวกัน เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงรู้เรื่อง ก็ทรงทุกข์โศกอย่างหนัก และออกพระโอษฐ์สาปแช่งต่างๆ[4] กระนั้นก็ตามแม้พระอาการโรคจะทรุดลงอย่างรวดเร็วก็ทรงมีพระสติดี โดยให้นิมนต์พระสงฆ์จำนวนหนึ่งเข้ามาในเขตพระราชฐานชั้นกลาง และ
พระราชทานพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ให้เป็นพระอุโบสถกระทำพิธีบวชขุนนางและข้าราชการฝ่ายในที่จงรักภักดีเหล่านั้นประมาณ 60 คน เพื่อพ้นภัยรัฐประหาร

ตึกพระเจ้าเหา พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ศูนย์บัญชาการ รัฐประหาร พระเพทราชา

๙ ตึกพระเจ้าเหาในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ศูนย์บัญชาการรัฐประหารของพระเพทราชา ๑๘ พฤษภาคม ๒๒๓๑

พระที่นั่งดุสิตฯ ได้กลับคืนความเป็นพระที่นั่งดังเดิมอีกครั้งหนึ่งโดยพิธีผาติกรรม ถ่ายโอนความเป็นพระ
อุโบสถไปยังวัดขวิด (วัดกระหวิด วัดกรวิท หรือวัดกวิศรารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นวัดเก่าริมวังด้านทิศใต้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง ทิ้งช่วงเวลาไว้นานกว่า 200 ปี

จนถึงเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2231 สมเด็จพระนารายณ์ก็เสด็จสวรรคต พระศพคืนกลับไปยังอยุธยา ก่อนหน้านี้เจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อยพระอนุชา ซึ่งมีสิทธิ์โดยประเพณีที่จะได้พระราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระเพทราชาปรารถนาจะให้เป็นเช่นนั้น แต่เจ้าฟ้าทั้งคู่ก็ถูกลอบปลงพระชนม์อย่างลึกลับ นัยว่าเป็นบัญชาของหลวงสรศักดิ์

ในที่สุด พระเพทราชา ก็จำได้ราชสมบัติแบบตกกระไดพลอยโจน หรือที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแบบเลยตามเลย

เมื่อได้ราชสมบัติแบบไม่ทรงตั้งใจเช่นนั้น ไม่นานนักก็จำต้องปราบกบฏจากอ้ายธรรมเถียร ที่สำคัญตนว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ และปราบเจ้านครใหญ่ 2 นคร คือ เจ้านครราชสีมาและเจ้านครศรีธรรมราช และการปราบปรามได้เสร็จสิ้นลงโดยไม่ช้า

ส่วนกรณีหลังได้ราชสมบัติอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีขับไล่ทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอก ที่อยู่ในความควบคุมของนายพลเดส์ฟาร์จ และที่ป้อมเมืองมะริด ในความควบคุมของนายพลดูบรูอัง เฉพาะที่ป้อมบางกอกค่อนข้างใช้เวลาและมีการสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่าย ครั้นทำท่าจะสงบศึกกันได้ แต่เพราะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ทำให้กลายเป็นศึกยืดเยื้อโดยไม่จำเป็น ในที่สุดสงครามก็ยุติลงโดยไทยได้ตัวประกัน 4 คนคืนมา[5] (ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 2 คน ล่ามและทหารรับใช้) กับได้สมบัติฝรั่งเศส และได้กักกันนักบวชจำนวน 70 คน ไว้ระยะหนึ่งก่อนจะให้อิสรภาพ โดยเฉพาะบุตรชาย 2 คน ของนายพลเดส์ฟาร์จ ซึ่งเป็นตัวประกัน ซึ่งท่านนายพลก็โหดเหี้ยมพอที่จะยอมเสียบุตรชายทดแทนกับการกระทำขัดคำสั่งของ พระเพทราชา อย่างไรก็ดีทรงมีเมตตาให้อิสรภาพแก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด รวมทั้ง มารี กีมาร์ ภรรยาและบุตรของฟอลคอนอีกคนหนึ่ง โดยฝ่ายอยุธยายอมสูญเรือสินค้า 2 ลำ ที่ท่านนายพลขอยืมไป คือเรือชื่อสยามและละโว้ กับเงินอีก 300 ชั่ง

สมเด็จพระเพทราชา หรือพระมหาบุรุษ อยู่ในราชสมบัตินาน 15 ปี จึงสวรรคตเมื่อลุศักราช 1065 ปีมะแม เบญจศก

วัดขวิด วัดกวิศรารามราช
วรวิหาร ริมถนน เพทราชา

๑๐ ภาพถ่ายเก่าวัดขวิด (วัดกวิศรารามราช
วรวิหาร) ปัจจุบันตั้งอยู่ริมถนนเพทราชา

กล่าวกันว่าสมเด็จพระเพทราชา เป็นกษัตริย์ที่มีพื้นฐานคนบ้านนอก บ้านเดิมอยู่บ้านกร่าง หรือบ้านพลูหลวง ชานเมืองสุพรรณบุรี แต่ได้ดิบได้ดีเพราะมีมารดาเป็นแม่นมสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชา บังอาจกระทำการรัฐประหาร เป็นกบฏชิงราชสมบัติ กับสังหารวิไชยเยนทร์ ผู้เสมือนเป็นกำลังสำคัญทางการต่างประเทศและเศรษฐกิจ กับช่วยนำพาสยามให้พ้นภัยจากฮอลันดา ประกอบกับมีคุณูปการแก่บ้านเมืองอีกมาก ข้อมูลที่ค่อนข้างจะคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง กับการด่วนสรุปของนักประวัติศาสตร์บางคนและผู้ปกครองยุคหนึ่งนั้น ทำให้ภาพของสมเด็จพระเพทราชาที่สง่างาม บูดเบี้ยวไปอย่างน่าอนาถใจ นี่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ถนนเพทราชาตามพระนามนั้น เป็นถนนแคบสั้น สกปรกรกรุงรัง ขาดความสวยงาม แม้ในปัจจุบันจะดูดีขึ้นมากแล้วก็ตาม และหรือว่าเพราะได้ราชสมบัติแบบตกกระไดพลอนโจน?

ผู้เขียนและผู้ร่วมเดินทางเข้าไปถึงบ้านกร่าง บ้านพลูหลวง ซอย 9 ชานเมืองสุพรรณบุรี ได้รับการต้อนรับดีจากพี่ ส.ว. (สูงวัย) ผู้หนึ่งผู้มีเมตตาพร้อมภรรยาของท่าน (น.อ. สำอาง กลิ่นคำหอม ร.น.) ที่ตรงซอยนั้นสุดซอยเป็นศาลเจ้าพ่อขุนเณร อดีตนักรบเลือดสุพรรณผู้กล้าแกร่ง ย่านนี้เป็นชาวบ้านพลูหลวงทั้งหมด ดูสงบร่มรื่น น่าจะหลายๆ เจนเนอเรชั่น ถัดมาจากสมเด็จพระเพทราชา ได้ถูกบอกเล่าให้รับรู้กันเงียบๆ ปากต่อปากมาจนถึงปัจจุบัน คุณพี่ผู้การทหารเก่าย้ำว่า ผู้ที่รู้เรื่องราชวงศ์บ้านพลูหลวงดีมาก มีอยู่ 2 ท่าน ท่านหนึ่งคือ คุณมนัส โอภากุล (เสียชีวิตแล้ว) และคุณน้าเจ้าของร้านสังฆภัณฑ์ในตลาดสุพรรณบุรีอีกท่านหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนจะต้องติดตามไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สักวันหนึ่งให้จงได้

อันความเป็นไปของสมเด็จพระเพทราชา กรณีก่อการรัฐประหาร ต่อต้านวิไชยเยนทร์ มีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก อันแสดงให้เห็นถึงปัญญาอันลึกซึ้งในการวางแผนการรัฐประหารอย่างระมัดระวังและรอบคอบเป็นที่สุด เพราะหากว่าผิดพลาดเมื่อไร ก็ย่อมถึงตายเมื่อนั้น ส่วนกรณีหลังคือขับไล่ทหารฝรั่งเศสออกจากป้อมบางกอก แสดงให้เห็นถึงความมีเมตตาที่น่านับถือเป็นอย่างยิ่ง

 

ขอขอบคุณ นิตยสารเล่าเรื่อง พระเพทราชา ได้ราชสมบัติแบบตกกระไดพลอยโจน?
ศิลปวัฒนธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *